ระบบสุริยะ


        ระบบสุริยะประกอบด้วย ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์อยู่ตรงศูนย์กลางของระบบ
 มีดาวเคราะห์และวัตถุขนาดเล็ก เช่น ดาวเคราะห์แคระ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง 
เป็นบริวารโคจรล้อมรอบ  ดาวเคราะห์บางดวงมีดวงจันทร์บริวารโคจรล้อมรอบ 

กำเนิดระบบสุริยะ

        ระบบสุริยะเกิดจากกลุ่มฝุ่นและแก๊สในอวกาศซึ่งเรียกว่า “โซลาร์เนบิวลา”
 (Solar Nebula) รวมตัวกันเมื่อประมาณ 4,600 ล้านปีมาแล้ว 
(นักวิทยาศาสตร์คำนวณจากอัตราการหลอมรวมไฮโดรเจนเป็นฮีเลียมภายในดวงอาทิตย์) 
เมื่อสสารมากขึ้นแรงโน้มถ่วงระหว่างมวลสารมากขึ้นตามไปด้วย กลุ่มฝุ่นและแก๊สยุบ
ตัวหมุนเป็นรูปจานตามหลักอนุรักษ์โมเมนตัมเชิงมุม ดังภาพที่ 1 แรงโน้มถ่วงที่เพิ่ม
ขึ้นสร้างแรงกดดันที่ใจกลางจนอุณหภูมิสูงถึง 15 ล้านเคลวิน จุดปฏิกิริยานิวเคลียร์
ฟิวชัน หลอมรวมอะตอมของไฮโดรเจนให้เป็นฮีเลียมดวงอาทิตย์กำเนิดเป็นดาวฤกษ์

  วัสดุรอบๆ ดวงอาทิตย์ (Planetisimal) ยังคงหมุนวนและโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วย
โมเมนตัมที่มีอยู่เดิม  มวลสารในวงโคจรแต่ละชั้นรวมตัวกันเป็นดาวเคราะห์  
อิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงทำให้วัสดุที่อยู่รอบๆ พุ่งเข้าหาดาวเคราะห์จากทุกทิศทาง  
ถ้าทิศทางของการเคลื่อนที่มีมุมลึกก็จะพุ่งชนดาวเคราะห์ ทำให้ดาวเคราะห์นั้นมี
ขนาดใหญ่และมีมวลเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามุมของการพุ่งชนตื้นเกินไปก็อาจจะทำให้แฉลบ
เข้าสู่วงโคจร และเกิดการรวมตัวกลายเป็นดวงจันทร์บริวาร ดังจะเห็นว่า ดาวเคราะห์
ขนาดใหญ่ เช่น ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์มีดวงจันทร์บริวารหลายดวง  
เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่มีมวลมากจึงมีแรงโน้มถ่วงมาก ต่างกับ
ดาวพุธซึ่งเป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็กมีมวลน้อยจึงมีแรงโน้มถ่วง
น้อยจึงไม่มีดวงจันทร์บริวารเลย  ส่วนดาวเคราะห์น้อยและดาวหางนั้นมีรูปทรงเหมือนอุกกาบาต 
เพราะเป็นดาวขนาดเล็กมีมวลน้อย แรงโน้มถ่วงจึงไม่สามารถเอาชนะ
แรงยึดเหนี่ยวระหว่างสสารให้ยุบรวมเป็นทรงกลมได้
        หลักฐานที่ยืนยันทฤษฏีกำเนิดระบบสุริยะก็คือ ถ้ามองจากด้านบนของระบบสุริยะ
 (Top view) จะสังเกตได้ว่า ทั้งดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ และดวงจันทร์บริวารเกือบ
ทุกดวง หมุนรอบตัวเองในทิศทวนเข็มนาฬิกา* และโคจรรอบดวงทิตย์ในทิศทวนเข็มนาฬิกา
** และหากมองจากด้านข้างของระบบสุริยะ (Side view) ก็จะสังเกตได้ว่า 
ดาวเคราะห์และดวงจันทร์บริวารเกือบทุกดวง มีระนาบวงโคจรใกล้เคียงกับระนาบ
สุริยวิถี(Ecliptic plane***  ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากระบบสุริยะทั้งระบบกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กัน 
จากการยุบรวมและหมุนตัวของจานฝุ่นใน Solar nebula ดังที่กล่าวมา

หมายเหตุ:
           * แกนดาวของดาวศุกร์เอียง 178° แกนของดาวยูเรนัสเอียง 98° แกนของ
ดาวพลูโตเอียง 120°  จึงมองเห็นเหมือนว่า ดาวทั้งสามหมุนรอบตัวเองในทิศทางที่
แตกต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่น ทั้งนี้เป็นเพราะาจถูกวัตถุขนาดใหญ่ชนขณะที่ระบบสุริยะ
เริ่มก่อตัว
            ** ดวงจันทร์ขนาดเล็กบางดวงหมุนรอบตัวเองและโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยมีทิศ
ทางสวนทางกลับดาวเคราะห์ดวงแม่ ทั้งนี้สันนิษฐานว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ถูกแรงโน้ม
ถ่วงของดาวเคราะห์จับมาเป็นบริวารในภายหลัง 
            ***  ดวงจันทร์ขนาดเล็กบางดวงโคจรรอบดาวเคราะห์ดวงแม่ โดยมีระนาบเฉียงตัด
กับระนาบสุริยวิถี ทั้งนี้สันนิษฐานว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ถูกแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์
จับมาเป็นบริวารในภายหลัง 


ที่มา
http://www.lesa.biz/astronomy/solar-system/origin

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น